โดยทั้ง 9 วัดนี้เป็นการรวบรวมประวัติที่มีอันยาวนานของพระพุทธรูปในตระกูล ส. ทั้ง 9 ในจังหวัดหนองคาย เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการแสวงบุญของพุทธศาสนิกชน ที่มีความประสงค์จะเดินทางไปกราบไหว้สักการะบูชาและท่องเที่ยวในจังหวัดหนองคาย ทั้งยังได้รับอานิสงค์เมื่อกราบไหว้สักการะบูชา และเป็นเส้นทางในการท่องเที่ยวใหม่ที่สามารถเที่ยวได้ภายใน 1 วัน ที่นักท่องเที่ยวสามารถมาได้ทุกฤดูกาล พร้อมสัมผัสความงามของชายหาด ตามลำน้ำโขง รวมทั้งวิถีชีวิตของคนหนองคายอย่างใกล้ชิดได้ด้วย เริ่มจาก
หลวงพ่อพระใส วัดโพธิ์ชัย อ. เมือง หลวงพ่อพระใส เป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิราบปางมารวิชัย หล่อด้วยทองสีสุก มีพระรูปลักษณ์งดงามมาก ขนาดหน้าตัก กว้าง 2 คืบ 8 นิ้ว สวนสูงจากพระสงฆ์เบื้องล่างถึงยอดพระเกศ 4 คืบ 1 นิ้ว ของชางไม้ ปัจจุบันได้ประดิษฐานอยู่ภายในพระอุโบสถวัดโพธิ์ชัย(พระอารามหลวง) เป็นพระพุทธรูปที่ชาวจังหวัดหนองคายนับถือว่าศักดิ์สิทธิ์มากและเป็น ที่เคารพสักการะอย่างยิ่ง
หลวงพ่อพระเสี่ยง วัดมณีโคตร อ.โพนพิสัย หลวงพ่อพระเสี่ยง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อจากทองสัมฤทธิ์ หน้าตัก 8 นิ้ว สูง 24 นิ้ว หนักประมาณ 100 กิโลกรัม เป็นพระพุทธรูปที่เก่าแก่และสวยงามมาก ประดิษฐานอยู่ที่ วัดมณีโคตร ตำบลจุมพล อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย
หลวงพ่อสีบุญเฮือง (ศรีบุญเรือง) วัดหลวงเจติยาราม อำเภอโพนพิสัย
หลวงพ่อสีบุญเฮืองเป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิราบปางมารวิชัยสมัยล้านช้างความสูงจากหน้าตักถึงปลายพระเกศ 36 นิ้วหน้าตักกว้าง 26 นิ้วอัญเชิญมาจากอาณาจักรล้านช้าง สมัยพระสุนทรธรรมธาดาเจ้าเมือง โพนพิสัย เดิมประดิษฐานอยู่วัดกลางหรือวัดศรีบุญเรือง ต.วัดหลวง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ต่อมาเมื่อปี 2505 ได้อัญเชิญมาประดิษฐานอยู่วัดหลวงเจติยาราม ต.วัดหลวง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย และได้มีการหล่อพระแท่นขึ้นใหม่เพื่อแทนพระแท่นที่หายไป และเป็นหนึ่งสาเหตุที่เจ้าอาวาสวัดหลวงเจติยารามได้ปิดทองครอบเนื้อทองเดิมที่เก่าแก่ไว้ หลวงพ่อสีบุญเฮือง จึงเป็นพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งที่เก่าแก่มีความศักดิ์สิทธิ์ในตระกูลเก้าสอ สมควรไปกราบไหว้ขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัวตลอดไป
หลวงพ่อพระสวย วัดยอดแก้ว ตำบลในเมือง อำเภอเมือง
พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่วัดยอดแก้วมาช้านาน พุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตัก ๒๗ นิ้วสูง ๑๐๙ เซนติเมตร เป็นศิลปะล้านช้าง ริมฝีปากยิ้ม ซึ่งมีลักษณะสวยงามมาก ตามอักษรจารึกข้างเคียงว่า ได้อัญเชิญมาจากอาณาจักรล้านช้าง โดยราชคูเจ้าฟ้ามหาวัน ซึ่งมีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เป็นผู้สร้างขึ้น และด้วยเหตุที่มีพุทธลักษณะที่สวยงามกอปรกับเรื่องเล่าเชิงมุขปาฐะว่าก็เพราะว่าได้มีปรากฏชาย คนหนึ่งได้นุ่งขาวห่มขาวเดินทางมาจากหนองหาน แล้วมาถามปรึกษาโรคที่เกิดกับเขาโดยระบุว่าถ้าได้รับยาจากวัดยอดแก้วจะหายจากโรคที่เขาเป็นอยู่ จากนั้นก็มองถามหาพระสวยและงามที่อยู่ในวัดนี้เพื่ออยากจะกราบไหว้หลังจากนั้นคนที่นุ่งขาวห่มขาวก็ไม่ปรากฏตัวอีกเลยจนถึงปัจจุบันจึงเรียกว่า “พระสวย” เพื่อความเป็นสิริมงคล ด้วยบารมีหลวงพ่อจะให้โชคลาภแก่ผู้ศรัทธาตลอดจึงเรียกว่า “พระสวยรวยทรัพย์” หลวงพ่อพระสวยจะมีเทพพระเจ้ารักษาที่อยู่บารมีวัดยอดแก้วคือ พญาวัวทอง โดยอัญเชิญหลวงพ่ออินทร์แปลงมาเป็นบารมีธรรม คอยปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บแก่ผู้มาขอบารมีได้รับน้ำมนต์ หญ้ารักษาโรคหายแทบทุกราย สิ่งอัศจรรย์ของหลวงพ่อพระสวยนี้ เมื่อใครมีศรัทธาอยู่ในศีลอยู่ในธรรมมี คุณธรรมอันดีขอพรจากองค์หลวงพ่อจะประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะผู้ทำการค้าขาย เสี่ยงโชค สอบเข้าว่าความ ติดขัดสิ่งใดในการดำเนินชีวิต จะเกิดแคล้วคาด ปลอดภัย แล้วโชคลาภตามความประสงค์ทุกประการ
หลวงพ่อพระเสาร์ วัดประดิษฐ์ธรรมคุณ (วัดหอก่อง) อำเภอเมือง หลวงพ่อพระเสาร์ เป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองมาตั้งแต่โบราณกาล มีพุทธลักษณ์งดงามมาก เป็นปางมารวิชัย ฐานและองค์พระมีความประณีตวิจิตรสวยงามมาก ลักษณะพิเศษของหลวงพ่อพระเสาร์ คือ เล็บและริมพระโอษฐ์เป็นทองนาค หน้าตักกว้าง ๖๕ ซม. สูง ๑๕๑ ซม. ฐานองค์กว้าง ๖๓ ซม. สูง ๑๐๒ ซม. ฐานรองรับเป็นทองนาค กว้าง ๑๐๕ ซม. สูง ๕๗ ซม. มีอักษรธรรมจารึกที่ฐานรองรับ ประวัติการสร้างโดยพญาสุนน เจ้านครศรีเชียงรุ้ง เป็นผู้มีความเสื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างมาก หวังอานิสงส์ในการสร้างพระประธาน จะเป็นเครื่องหนุนนำให้ตนสำเร็จมรรคผล นิพพาน พญาสุนน พร้อมด้วยราชเทวี และราชบริพารทั้งมวล ได้ร่วมกันสร้างพระประธานเป็นขึ้นที่ตั้งชื่อว่าพระเสาร์ เมื่อวันที่ ๑ เดือน ๓ แรม ๘ ค่ำ ปีมะโรง เวลาประมาณ ๑๕.๐๐ น. ฤกษ์ ๑๖ พุทธศักราช ๒๑๑๑
ตามตำนานเล่ากันว่า หลวงพ่อพระเสาร์ ได้ประดิษฐานอยู่วัดหอก่อง (ปัจจุบันนี้เปลี่ยนชื่อเป็น วัดประดิษฐ์ธรรมคุณ) พร้อมกับหลวงพ่อพระใส ซึ่งขบวนแพอัญเชิญมาจากอาณาจักรล้านช้างมาขึ้นที่ท่าน้ำหน้าวัดหอก่อง ในปีพุทธศักราช ๒๓๖๙ ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
หลวงพ่อพระเสาร์ ก็คงประดิษฐานอยู่ภายในอุโบสถวัดประดิษฐ์ธรรมคุณ (วัดหอก่อง) เช่นเดิม ต่อมากรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นปูชนียสถานและปูชนียวัตถุที่มีคุณค่าควรต่อการเคารพกราบไหว้บูชาและถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านเมืองอีกองค์หนึ่ง ซึ่งมีพุทธลักษณะที่งดงามควรค่าแก่การกราบไหว้บูชาขอพรเป็นอย่างยิ่ง
หลวงพ่อพระสุก วัดศรีคุณเมือง อ.เมือง หลวงพ่อพระสุก เป็นพระพุทธรูปปรางมารวิชัย ชนิดสำริด ศิลปะล้านช้าง พุทธศตวรรษที่ ๒๔ หน้าตักกว้าง ๙๑ ซ.ม. สูงฐาน ๑๑๔ ซ.ม. ฐานกว้าง ๙๔.๕ ซ.ม. ประดิษฐานอยู่ที่วัดศรีคุณเมือง สำรวจโดยกรมศิลปากรที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๔ ในราชกิจจานุเบกษา
ประวัติการสร้างหลวงพ่อพระสุก วัดศรีคุณเมือง จังหวัดหนองคาย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๐ ผู้สร้างคือหลวงปู่ สีทัตถ์ สุวรรณมาโจ ที่เป็นผู้สร้างพระพุทธบาทโพนสันละพระธาตุอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม สร้างพระพุทธบาทบัวบก อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี และสร้างพระบาทโพนสัน (ฉัน) โดยได้ดำเนินการ สร้างอยู่ที่วัดศรีคุณเมือง ซึ่งมีผู้อุปถัมภ์ในการสร้างคือ ท่านขุนพิพัฒน์ โภคา เพื่อแทนองค์พระสุก ที่ตกอยู่ในแม่น้ำโขงบ้านหนองกุ้งหนองแก้วบริเวณปากน้ำงึม (เวินสุก) เมื่อการสร้างเสร็จก็ได้ตั้งชื่อว่า พระสุก หรือคนทั่วไปเรียกว่าหลวงพ่อพระสุก ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ฯ และได้ประดิษฐานอยู่ในอุโบสถวัดศรีคุณเมือง จังหวัดหนองคาย
หลวงพ่อพระแสง วัดศรีษะเกษ อ.เมือง หลวงพระแสง หรือหลวงพ่อองค์แสน วัดศรีษะเกษ อำเภอเมืองฯ เป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิราบ ปางมารวิชัย หล่อด้วยเงินและทองน้ำหนักหนึ่งแสนบาท พระพุทธรูปนี้จึงได้ชื่อว่าหลวงพ่อองค์แสนในเวลาต่อมา
หลวงพ่อแสนห้า วัดกุมภประดิษฐ์ อ.ท่าบ่อ หลวงพ่อแสนห้า เป็นพระพุทธรูปที่เก่าแก่ศักดิ์สิทธิ์ ขนาดหน้าตัก 61 นิ้ว สูง 90 นิ้ว ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถวัดกุมภประดิษฐ์ ชาวบ้านเรียกว่า วัดกลาง (เดิมชื่อวัดเตาไห สาเหตุเพราะเป็นสถานที่ที่มีการเตาเผาตุ่มน้ำหรือไหน้ำ) ตั้งอยู่ที่ ตำบลโพนสา อำเภอท่าบ่อจังหวัดหนองคาย ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ และได้ยกฐานะเป็นวัดที่ถูกต้องในปี พ.ศ. 2440 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ ปี พ.ศ. 2445
ปะวัติโดยย่อ หลวงพ่อแสนห้า เป็นพระพุทธรูปที่เก่าแก่และศักดิ์สิทธิ์มาก สร้างขึ้นในราว พ.ศ. 2213 ซึ่งมีผู้มีจิตศรัทธาสองพี่น้องเป็นเจ้าภาพหลัก คือ พี่ชายชื่อ แสน น้องชายชื่อ ห้า จึงได้นามเรียกขนานว่า “หลวงพ่อแสนห้า” ในการดำเนินการสร้างนอกจากสองพี่น้องแล้วยังมีพุทธศาสนิกชนเป็นจำนวนมากร่วมเป็นเจ้าภาพ เพื่อใช้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของพุทธศาสนิกชน มีพุทธศาสนิกชนเคารพเลื่อมใสและเดินทางไปกราบขอพร และได้รับความสมหวังเป็นจำนวนมาก
หลวงพ่อทองแสน วัดท่าคกเรือ อ.ท่าบ่อ หลวงพ่อทองแสน เป็นพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ เก่าแก่กว่าพันปี มีประวัติว่าพระยาหลวงสุคันธวงศาราชเจ้า เป็นผู้สร้างและได้จารึกอักษรธรรมล้านช้างไว้ท่านพระพุทธรูปประมาณปี พ.ศ. 2438 ท้าวขัตติยะได้รับพระราชทานให้เป็นเจ้าเมืองท่าบ่อ และได้อัญเชิญหลวงพ่อทองแสนมาจากล้านช้าง และได้ประดิษฐานอยู่ ณ วัดท่าคกเรือนี้สืบมา
การเดินทางควรเลือกเดินทางไปที่ อำเภอท่าบ่อหรือ อำเภอโพนพิสัยก่อน แล้วมาจบวัดสุดท้ายที่วัดโพธิ์ชัยเพื่อความสะดวกในการเดินทาง