โรคภัยไข้เจ็บถามหาเราได้ง่ายขึ้น ยิ่งโรคที่เกี่ยวกับพฤติกรรมการกิน ยิ่งพบเจอได้ง่าย ตรวจสุขภาพทีต้องมานั่งลุ้นว่า คอเลสเตอรอลจะเกินไหม ไตรกลีเซอไรด์จะพุ่งหรือไม่ โดยเฉพาะค่าน้ำตาลในเลือดที่มีผลให้เกิดความเสี่ยงสารพัดโรค ซึ่งนอกจากโรคเบาหวานแล้ว ยังมีอีกหนึ่งโรคที่น่ากลัวไม่แพ้กัน คือ ไขมันพอกตับ
ไขมันพอกตับ เป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถนำไขมันที่เรารับประทานไปใช้ได้หมด จนทำให้เกิดการสะสมอยู่ที่ตับ ไขมันพอกตับเป็นภัยเงียบ ผู้ป่วยมักไม่รู้ตัวว่าตับมีความผิดปกติ เพราะส่วนใหญ่ไม่มีอาการใดๆ มักได้รับการวินิจฉัยเมื่อมาตรวจสุขภาพประจำปี ส่วนน้อยอาจมีอาการอ่อนเพลีย จุกแน่นชายโครงขวา
ใครบ้างที่มีความเสี่ยงไขมันพอกตับ
ภาวะไขมันพอกตับโดยส่วนใหญ่มักพบในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง กลุ่มอาการอ้วนลงพุง ผู้ป่วยที่มีน้ำหนักตัวมาก ชอบรับประทานอาหารหวาน ไม่ออกกำลังกาย
ไขมันพอกตับมีผลอย่างไรกับร่างกาย
โดยส่วนใหญ่ ไขมันพอกตับ ระยะแรก มักไม่มีอาการ แต่หากปล่อยทิ้งไว้จนเกิดอาการอักเสบเรื้อรัง อาจทำให้กลายเป็นตับแข็ง และเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งตับได้
นอกจากนี้ พบว่า ผู้ป่วยที่มีไขมันพอกตับพบความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด มากกว่าผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะไขมันพอกตับ
รู้ได้อย่างไรว่าอยู่ในภาวะไขมันพอกตับ
จะเห็นได้ว่า ส่วนใหญ่ผู้ป่วยไม่มีอาการ จึงอาจทำให้ผู้ป่วยไม่ทราบว่าตัวเองกำลังอยู่ในภาวะไขมันพอกตับ ดังนั้น การตรวจสุขภาพประจำทุกปี หรือ 6 เดือน จะช่วยให้พบความผิดปกติของตับได้เร็วยิ่งขึ้น โดยสามารถตรวจพบได้ผ่านการตรวจเลือด อัลตร้าซาวด์ หรือการตรวจด้วยเครื่อง FibroScan ประกอบกัน
วีธีป้องกันภาวะไขมันพอกตับ
หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว หรือไขมันทรานส์สูง เช่น เนื้อติดมัน เบคอน แฮม น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว เบเกอรี่ ครีมเทียม หลีกเลี่ยงน้ำตาลฟรุกโตส เช่น เครื่องดื่มที่มีรสหวาน คุกกี้ ลูกอม น้ำผลไม้ (ควรรับประทานผลไม้ทั้งผลมากกว่า) ควรรับประทานไขมันดี เช่น น้ำมันมะกอก อะโวคาโด ถั่วต่างๆ ปลาทู ปลาแซลมอน ทูน่า
ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อย 4-5 วันต่อสัปดาห์ ครั้งละ 30-45 นาที
หากใครอยู่ในเกณฑ์อ้วน คือ มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน ให้ลดน้ำหนักตัว สามารถปรึกษาแพทย์ได้เช่นกันว่าควรจะมีน้ำหนักปริมาณเท่าไร
ลดการดื่มแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่
นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 5-6 ชั่วโมงต่อวัน 6. ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพราะไขมันพอกตับสามารถตรวจเจอในระยะแรกๆ ผ่านการตรวจเลือด และอัลตร้าซาวด์ หรือการตรวจด้วยเครื่อง FibroScan