อุทยานแห่งชาติภูเวียง

797

คำว่า “ภูเวียง” เป็นท้องที่อำเภอที่เก่าแก่ของจังหวัดขอนแก่นอำเภอหนึ่ง และยังเป็นชื่อเรียกของเทือกเขาซึ่งในปัจจุบันได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดพื้นที่ป่าภูเวียงให้เป็นอุทยานแห่งชาติตามประกาศ ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 108 ตอนที่ 215 ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2534 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 71 ของประเทศไทย มีเนื้อที่ 325 ตารางกิโลเมตร หรือ 203,125 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่รอยต่อ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอภูเวียง อำเภอ ชุมแพ อำเภอสีชมพู อำเภอหนองนาคำ และอำเภอเวียงเก่า จังหวัดขอนแก่น มีลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นเทือกเขาล้อมเป็นวงอยู่ 2 ชั้น ตรงกลางเป็นแอ่งขนาดใหญ่ คล้ายแอ่งกระทะซึ่งเป็นที่ราบและลอนลาด ส่วนพื้นที่โดยรอบแอ่งมีลักษณะเป็นเทือกเขาซึ่งมีมุมเทเข้าหาใจกลางแอ่ง ประกอบด้วยเทือกเขาที่มีความลาดชันปานกลางถึงลาดชันสูง เทือกเขาชั้นนอกสุดมียอดเขาสูงสุด 844 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง บริเวณทิศตะวันตกเฉียงใต้ของพื้นที่ และเทือกเขาชั้นในมียอดเขาสูงสุด 470 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง บริเวณทิศเหนือของพื้นที่เทือกเขาชั้นในนี่เองที่เป็นแหล่งฟอสซิลไดโนเสาร์ ส่วนระดับต่ำสุดของเชิงเขาอยู่ระดับ 210 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง อุทยานแห่งชาติภูเวียงมีทรัพยากรป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์และสัตว์ป่าชุกชุม มีทรัพยากรที่เป็นเอกลักษณ์ คือ ซากกระดูกไดโนเสาร์ ที่มีอายุเก่าแก่ประมาณ 130 ล้านปี ซึ่งนักโบราณชีววิทยาของ กรมทรัพยากรธรณี ได้ทำการสำรวจพบเป็นชนิดแรกของโลก เป็นชนิดไดโนเสาร์ที่กินพืชเป็นอาหาร คือ Phuwiangosaurous sirindhonnae และไดโนเสาร์กินเนื้อ ลักษณะบ่งบอกว่าเป็นบรรพบุรุษของ Tyranosaurus rex หรือทีเร็กซ์ จัดเป็นไดโนเสาร์สกุลและชนิดใหม่ของโลก คือ Siamotyrannus isanensis โดยมีแหล่งขุดค้นเรียงรายเป็นวงอยู่ภายในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูเวียง แหล่งซากไดโนเสาร์ที่สามารถเยี่ยมชมได้ มี 4 หลุมขุดค้นได้แก่ หลุมขุดค้นที่ 1 (ภูประตูตีหมา) หลุมขุดค้นที่ 2 (ถ้ำเจีย) หลุมขุดค้นที่ 3 (ห้วยประตูตีหมา) และ หลุมขุดค้นที่ 9 (หินลาดยาว)