ประเทศไทยเรานั้นมีวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอยู่หลายวันด้วยกัน เชื่อว่าหลายคนมักที่จะถือโอกาสในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนานี้
เข้าวัดทำบุญเพื่อความเป็นสิริมงคลกับชีวิต และหนึ่งในการทำบุญที่นิยมกันมากก็คือ การถวายสังฆทาน ซึ่งเราจะมาทำความเข้าใจถึงความหมายของคำว่า สังฆทาน รวมไปถึงวิธีปฎิบัติในการถวายสังฆทานที่ถูกต้องเพื่อให้เกิดกุศลผลบุญแก่ผู้ถวายมากที่สุด
สังฆทาน คือ ?
สังฆทาน แยกเป็น 2 คำ ได้แก่ “สังฆะ” และ “ทาน” โดย สังฆะ นั้นหมายถึง ภิกษุตั้งแต่ 2 รูปขึ้นไป และ ทาน หมายถึง การให้, แบ่งปัน, แจกจ่ายวัตถุสิ่งของปัจจัยสี่ด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์ เมื่อรวมความหมายแล้ว “สังฆทาน” จึงหมายถึง การถวายวัตถุปัจจัยแก่พระภิกษุโดยความตั้งใจอุทิศให้เป็นของ (หมู่พระภิกษุหรือสงฆ์ทั้งปวง) ด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์ เป็นการสนับสนุนให้ชาวพุทธไม่นำเอาพระพุทธศาสนาไปผูกติดไว้กับบุคคล เพราะบุคคลนั้นไม่แน่นอน
ฉะนั้นแล้วการตั้งใจถวายสังฆทานแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเป็นการเฉพาะเจาะจงหรือที่เรียกว่า “ปาฏิปุคลิกทาน” เราไม่เรียกว่าเป็นการถวายสังฆทาน เพราะทานเช่นนี้ยังไม่ช่วยทำให้จิตใจห่างจากความยึดติดถือมั่น แต่กระนั้นก็ยังถือว่าเป็นทานที่ควรทำอยู่เพราะถือเป็นการฝึกให้ปัจเจกบุคคลรู้จักพัฒนาตนให้มีธรรม
การถวายสังฆทานมีที่มาอย่างไร
ในสมัยพุทธกาลพระนางมหาปชาบดี (พระแม่น้า) ต้องการถวายผ้าจีวรแก่พระพุทธองค์ แต่พระพุทธองค์ทรงแนะนำให้พระนางถวายแก่สงฆ์ โดยอรรถาธิบายว่า การถวายแก่สงฆ์ย่อมให้อานิสงส์มากกว่าถวายแก่พระองค์เป็นการเฉพาะ ตั้งแต่นั้นมา ชาวพุทธจึงถือกันว่า การถวายสังฆทาน เป็นมหาทานที่ทำให้มีอานิสงส์มาก ได้บุญมาก
เครื่องสังฆทานต้องมีลักษณะใด
ศัพท์ในทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า “ไทยทาน” หรือ “ไทยธรรม” หมายถึง ปัจจัยสี่ที่ไม่ขัดต่อสมณะภาวะ ซึ่งมีหลักพิจารณาอยู่ 5 ข้อ ดังต่อไปนี้
- สมควรไหม
- ขัดกับพระวินัยของพระไหม
- พระจำเป็นต้องใช้ไหม
- มีคุณภาพดีไหม
- เอื้อต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระสงฆ์ไหม
เครื่องสังฆทาน ประกอบด้วยทานวัตถุ 10 ประการ ดังต่อไปนี้
- ภัตตาหาร อาหารคาว-หวานต่างๆ
- น้ำ รวมทั้งเครื่องดื่มอันควรแก่สมณบริโภค (ชา กาแฟ น้ำผลไม้)
- ผ้า เครื่องนุ่งห่ม
- ยานพาหนะ อุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการเดินทาง รวมถึงปัจจัยค่าโดยสาร
- มาลัยและดอกไม้เครื่องบูชาชนิดต่างๆ
- ของหอม หรือธูปเทียนบูชาพระ
- เครื่องลูบไล้ หรือเครื่องสุขภัณฑ์สำหรับชำระร่างกาย เช่น สบู่ เป็นต้น
- ที่นอนอันควรแก่สมณะ
- ที่อยู่อาศัยหรือกุฏิ เสนาสนะ และเครื่องสำหรับเสนาสนะ เช่น เตียง ตู้ โต๊ะ เก้าอี้ เป็นต้น
- เครื่องส่องสว่าง เช่น ตะเกียง หลอดไฟฟ้า ไฟฉาย เป็นต้น
สำหรับอานิสงส์ของการถวายทานแด่พระสงฆ์ มีมากมายมหาศาล กล่าวได้โดยสังเขป คือ ผู้ถวายทานย่อมเป็นที่รักใคร่ของเหล่ามนุษย์และเทวดาทั้งหลาย, เป็นที่นิยมคบหา มีชื่อเสียงเกียรติคุณไปทั่ว มีสง่าราศี เป็นต้น