บริโภคเค็มมากเกินไป เสี่ยงเกิดโรค NCDs โดยไม่รู้ตัว

1179

อาหารไทยเป็นอาหารที่มีหลากหลายรสชาติทั้ง เปรี้ยว หวาน เค็ม และเผ็ดโดยความจัดจ้านของอาหารไทย

เป็นที่ถูกปากทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ แต่ภายใต้รสชาติแสนอร่อยนั้นก็ซ่อนอันตรายอยู่ไม่น้อยเลยที่เดียว หากเราบริโภคมากพอดี ปัจจุบันประชาชนประสบปัญหาเรื่องโรค NCDs หรือโรคไม่ติดต่อ ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะการบริโภคอาหารรสหวาน มัน เค็ม และขาดการออกกำลังกายในสัดส่วนที่ไม่เหมาะสมมากขึ้น อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สถิติของผู้ป่วยด้วยโรค NCDs เพิ่มสูงขึ้น และเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในที่สุด
จากสถิติในประเทศไทยปัจจุบัน พบว่า มีอัตราการเสียชีวิต 3 ใน 4 ที่มีสาเหตุมาจากโรคไม่ติดต่อ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งโรคดังกล่าวเหล่านี้ ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อโรค แต่เป็นผลจากการมีพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่ไม่เหมาะสม เช่น ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ขาดการออกกำลังกาย ทานอาหารหวาน มัน เค็มมากจนเกินพอดี พฤติกรรมเหล่านี้ ส่งผลให้เกิดความดันเลือดสูง น้ำตาลในเลือดสูง ไขมันในเลือดสูงขึ้น น้ำหนักตัวเกินจนกระทั่งอ้วน ส่งผลให้เกิดโรคไม่ติดต่อตามมา เช่นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และนำไปสู่โรคไต
นายแพทย์วิศิษฐ์ ลิ่วลมไพศาล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสถาบันโรคไตและเปลี่ยนไต โรงพยาบาลพระรามเก้า บอกว่า คนไทยในปัจจุบันบริโภครสจัดและรสเค็ม ที่เพิ่มมากขึ้นเฉลี่ย 10.8 กรัมต่อวัน หรือโซเดียม 5,000 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งสูงเป็น 2 เท่า ของที่ร่างกายควรได้รับ โดยร้อยละ 71 มาจากการเติมเครื่องปรุงรสระหว่างการประกอบอาหาร ซึ่งโดยปกติอาหารตามธรรมชาติก็มีเกลือเป็นส่วนประกอบอยู่แล้ว เมื่อมีการใช้เครื่องปรุงรสดังกล่าวปริมาณมาก จึงทำให้ปริมาณเกลือในอาหารสูงมากตามไปด้วย
โรคไตเป็นหนึ่งในโรค NCDs ซึ่งพบมาก เนื่องจากมีประชากรในครอบครัวไทยป่วยเป็นโรคไตติดอันดับ 3 ของอาเซียน รองจากมาเลเซียและสิงคโปร์ สาเหตุส่วนใหญ่ร้อยละ 70 เกิดจากเบาหวานและความดันโลหิตสูง ซึ่งมีสถิติผู้ป่วยรวมเกือบ 15 ล้านคน ผลที่ตามมาคือ มีภาวะไตเสื่อมและไตเสื่อมเร็วขึ้น จัดว่าเป็นมหันตภัยเงียบที่น่ากลัว เพราะผู้ป่วยจะไม่ทราบว่าป่วยเป็นโรคไต นอกจากนี้แล้ว โรคไต ยังต้องมีการรักษาอย่างต่อเนื่องจนกว่าผู้ป่วยจะได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตหรือเสียชีวิต และนับว่ามีค่าใช้จ่ายสูง โดยโรคในกลุ่มนี้มีสาเหตุหลักจากการบริโภคอาหารรสเค็ม หรืออาหารที่มีส่วนประกอบของโซเดียมเป็นประจำโดยไม่รู้ตัว ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก
โรงพยาบาลพระรามเก้า จึงได้เล็งเห็นว่า การบริโภคเค็มมากเกินพอดีในแต่ละวัน ก่อให้เกิดโรคได้หลายชนิด จึงรณรงค์การบริโภคเค็มให้ลดโซเดียมลงจาก 4 กรัมต่อวัน ให้เหลือวันละ 2 กรัม เพื่อป้องกันการเกิดโรค NCDs ที่อาจจะเกิดขึ้นได้
ดังนั้น คนไทยสามารถหากลดปริมาณโซเดียมได้จากการปรุงอาหาร คือ
1) หลีกเลี่ยงการใช้เกลือ น้ำปลา ซอสปรุงรสต่างๆ และผงชูรส ในการปรุงอาหาร
2) หลีกเลี่ยงเติมเครื่องปรุง เช่น ปรุงรสในก๋วยเตี๋ยว เติมพริกน้ำปลาใน ข้าวแกง เป็นต้น
3) หลีกเลี่ยงอาหารประเภทดองเค็ม-อาหารแปรรูป เช่น ไข่เค็ม ปลาเค็ม ปลาแดดเดียว ปลาส้มแหนม ไส้กรอก กุนเชียง หมูหยอง เป็นต้น
4) เลือกรับประทานอาหารที่มีหลายรสชาติ เช่น แกงส้ม ต้มยำ เพื่อทดแทนรสชาติเค็ม
5) ตรวจดูปริมาณโซเดียมต่อหน่วยบริโภค บนฉลากของซอสปรุงรส อาหารสำเร็จรูป และขนมถุงเพื่อหลีกเลี่ยงอาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูงเกินความพอดี
แนวทางข้างต้นนี้ นับว่า เป็นตัวช่วยหนึ่ง ที่จะสามารถช่วยลดปริมาณการบริโภคเค็มของคไทยที่มีเพิ่มสูงขึ้นให้มีจำนวนลดลง และที่สำคัญสามารถทำให้คนไทยห่างไกลจากโรค NCDs ได้ด้วย

บทควมสุขภาพโดย โรงพยาบาลพระรามเก้า