อุบาสิกาคนหนึ่งถามว่า
ปุจฉา
ทำบุญอะไร มากและน้อยอย่างไร จึงจะได้บุญมาก
วิสัชนา
ทำบุญอย่างหนึ่ง ทำทานอย่างหนึ่ง
ทำกุศลอย่างหนึ่ง ไม่เหมือนกัน แต่ลงที่เจตนาอันเดียวเป็นรากฐาน
ทำบุญ นั้น มีเจตนาศรัทธาเป็นทุนก่อน จะมีวัตถุหรือไม่ก็ตามศรัทธานั้นเต็มเปี่ยมบริบูรณ์อยู่ในใจแล้ว ยิ่งมีวัตถุสิ่งของเป็นเครื่องแสดงให้ไปก็ยิ่งเพิ่มศรัทธาขึ้นเป็นทวีคูณ นี่เรียกว่าบุญ บุญคือความยินดีในสิ่งที่ตนให้แล้วเกิดเต็มเปี่ยมขึ้นมาในใจ
ทำทาน นั้น จะมีเจตนาหรือไม่ก็ตาม คิดจะให้แล้วก็ให้ไปเลย
ไม่ว่าสิ่งของอะไรทั้งหมด ถ้ามีเจตนาศรัทธาเลื่อมใสในบุคคลผู้รับและสิ่งที่ตนให้นั้นหรือเอ็นดูต่อบุคคลผู้รับนั้นแล้วให้ไปเรียกว่า ทาน สมดังคำว่า ทานํ เทติ เท ก็หมายความว่า เทให้ ทอดให้ ให้สิ่งของจึงเรียกให้ทาน
สรุปได้ว่า
ทำทาน คือให้สิ่งของพัสดุนั้นไม่ว่ามากหรือน้อยหยาบหรือละเอียดไม่ปรารถนาผลตอบแทน แต่มีเมตตาจิตเป็นพื้นฐานแม้ที่สุดให้ด้วยแก้ความรำคาญ เรียกว่าทำทาน
การทำบุญนั้น ต้องมีเจตนาศรัทธาเป็นพื้นฐานก็การให้นั่นแหละ เรียกว่าทำบุญจะให้สิ่งของอะไรมากและน้อย หยาบและละเอียดก็ตามให้แล้วหวังผลตอบแทน เช่นปรารถนาว่าด้วยอำนาจอานิสงส์ที่ข้าพเจ้าได้ทำบุญแล้วในครั้งนี้ขอให้ได้มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ นิพพานสมบัติ เป็นต้น
การกุศลนั้น คือ ทำบุญทำทานนั่นเอง แต่เป็นกุศโลบายของท่านผู้รู้ทั้งหลาย
ที่จะให้พ้นจากความยากและความหิวทั้งปวง ทำไปเพื่อให้ใจผ่องใสสะอาด
ไม่พึงปรารถนาสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น แม้แต่จิตคิดจะทำภาวนาสมาธิก็เช่นเดียวกัน
ทำบุญ ทำทาน ทำกุศล ไม่ว่ามากหรือน้อยวัตถุมิใช่ตัวบุญแท้ ตัวบุญแท้มันเกิดที่หัวใจคือ เจตนาของบุคคลนั้นต่างหากถ้าเจตนาศรัทธาในขณะใด ในบุคคลใดในสถานที่ใด ในที่นั้นๆ ได้บุญมาก
ฉะนั้น บุญในพุทธศาสนานี้ คนทำจึงไม่รู้จักหมดจักสิ้นสักทีพระพุทธเจ้าตรัสเทศนาไว้สองพันกว่าปีแล้วว่าทำบุญได้บุญเช่นไรมาในปัจจุบันนี้หรือในอนาคต ต่อไปก็ได้อย่างนั้นเช่นเคย
คนทำบุญมากเท่าไรก็จะได้บุญมากเท่าที่ตนนั้นสามารถจะรับเอาไปได้เหมือนกับคนนับเป็นหมื่นๆ แสนๆ ถือเทียนมาคนละเล่มไปขอจุดจากผู้ที่มีเทียนที่จุดอยู่แล้ว ย่อมได้แสงสว่างตามที่ตนมีเทียนเล่มโตหรือเล่มเล็กส่วนดวงเดิมที่ตนขอจุดต่อนั้นก็ไม่ดับ เทียนหลายดวงยิ่งเพิ่มแสงสว่างยิ่งๆ ขึ้นไปอีก