ตรุษจีน เป็นวันสำคัญของจีนที่มีมาแต่โบราณที่เรียกว่า “กว้อชุนเจี๋ย” หรือ “กว้อเหนียน” เล่ากันว่า ในสมัยโบราณ มีสัตว์ที่ดุร้ายและน่ากลัวมากตัวหนึ่ง มันได้อาศัยในป่าและบางตำนานเล่าขานว่ามันอาศัยอยู่ในทะเลลึก มันถูกเรียกว่า “ปีศาจเหนียน”(จีนตัวเต็ม: 年兽; จีนตัวย่อ: 年獸; พินอิน: nián shòu)
ลักษณะของเหนียน ปีศาจในตำนานของจีน คือ หัวโตใหญ่ มีขนรุงรัง ตัวใหญ่และ ดุร้ายเป็นอย่างมาก
ทุกปีพอถึงวันสิ้นปีก็จะเข้ามากินผู้คนและสัตว์เลี้ยงเป็นประจำ พระเจ้าจึงได้ลงโทษมัน โดยให้มันเข้ามาในเมืองได้เพียงหนึ่งครั้งใน 365 วัน
ดังนั้น เมื่อฤดูหนาวใกล้จะผ่านไป ฤดูใบไม้ผลิเวียนมาใกล้ เหนียน ก็จะออกมากินผู้คน และเพื่อป้องกันการมาของ เหนียน ทุกๆ ครัวเรือนจึงต่างสะสมเสบียงอาหาร และกับข้าวจำนวนหนึ่งไว้ในบ้าน เมื่อถึงตอนค่ำพวกเขาจะปิดประตูและหน้าต่างเอาไว้ ไม่หลับไม่นอนตลอดคืน เพื่อ ระวังปีศาจ “เหนียน” จนกระทั่งถึงรุ่งเช้า เมื่อ “ปีศาจเหนียน” กลับไปแล้ว ทุกๆ ครัวเรือนก็จะเปิดประตูออกมาแสดงความยินดีต่อกัน ที่โชคดีไม่ได้ถูก เหนียนจับกินเป็นอาหาร
ส่วนตำนาน” ปีศาจเหนียน” ที่อาศัยอยู่ในทะเลลึกนั้น พอถึงวัน เริ่มฤดูใบไม้ผลิ ผู้คนในหมู่บ้านบนภูเขาต่างก็อุ้มลูกจูงหลานเข้าไปในหุบเขาลึก เพื่อซ่อนตัวไม่ให้ปีศาจ เหนียน มาทำร้าย ต่อมาพบว่า เหนียน มีจุดอ่อน มีอยู่ครั้งหนึ่ง เมื่อเหนียน มาถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง มีเด็กกลุ่มหนึ่งกำลังหวดแส้เล่นกัน เมื่อ เหนียน ได้ยินเสียงแส้ดังเปรี้ยงปร้างก็เลยตกใจเผ่นหนีไป เมื่อ เหนียน ไปถึงหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่ง เห็นมีชุดเสื้อผ้าสีแดงตากอยู่หน้าบ้านของครอบครัวหนึ่ง สีแดงฉูดฉาดนั้น ทำให้ เหนียน ตกใจและเผ่นหนีไปอีก เมื่อ เหนียน มาถึงหมู่บ้านแห่งที่สาม ปรากฏว่าไปพบเห็นกองเพลิงกองหนึ่งบนถนน แสงเพลิงที่เจิดจ้าทำให้ เหนียน ต้องเผ่นหนีไปอีก ตั้งแต่นั้นมา ผู้คนต่างรู้ว่า แม้ว่า เหนียน จะดุร้ายแต่มันก็กลัวสีแดง เสียงดัง และไฟ ทำให้ผู้คนสามารถคิดหาวิธีกำจัด เหนียน ได้โดยไม่ยากนัก
เมื่อเริ่มฤดูใบไม้ผลิ เวียนมาอีกครั้งหนึ่ง ทุกๆ ครัวเรือนจึงต่างนำกระดาษสีแดงมาติดไว้บนประตูหน้าบ้าน แขวนโคมไฟสีแดง พร้อมกับจุดประทัดและตีฆ้องรัวกลองอย่างต่อเนื่อง เมื่อ เหนียน มาถึงในตอนเย็น เห็นทุกๆ ครัวเรือนมีแสงไฟสว่างไสว มีเสียงประทัดดังสนั่นจึงตกใจเผ่นหนี และไม่กล้าออกมาอาละวาดอีก ทุกๆ คนจึงผ่านพ้นคืนแห่งอันตรายไปอย่างปลอดภัย เมื่อฟ้าสางแล้ว ผู้คนจึงออกมาจากบ้าน กล่าวคำอวยพรซึ่งกันและกันอย่างมีความสุข พร้อมกับการนำอาหารออกมารับประทานร่วมกันอย่างสนุกสนาน ต่อมา วันดังกล่าวจึงกลายมาเป็นวันเฉลิมฉลองที่มีแต่ความสุขที่เรียกกันว่า “วันตรุษจีน”
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ที่มาของวันตรุษจีน เกิดขึ้นเพื่อตั้งใจที่จะฉลองฤดูใบไม้ผลิ เนื่องจากช่วงก่อนเทศกาลตรุษจีนนั้น ประเทศจีนปกคลุมไปด้วยหิมะ จึงไม่สามารถทำการเกษตรได้ เมื่อเข้าถึงฤดูใบไม้ผลิ จึงจะสามารถเพาะปลูกพืนผักได้ตามปกติ ชาวจีนจึงกำหนดให้วันแรกของฤดูใบไม้ผลิตในแต่ละปีเป็นวันสำคัญที่เรียกว่า “วันตรุษจีน”
ผู้คนเริ่มซื้อของขวัญ, สิ่งต่างๆ เพื่อประดับบ้านเรือน, อาหารและเสื้อผ้า การทำความสะอาดครั้งใหญ่ก็เริ่มขึ้นในวันก่อนตรุษจีน บ้านเรือนจะถูกทำความสะอาดตั้งแต่บนลงล่าง หน้าบ้านยันท้ายบ้าน ซึ่งหมายถึงการกวาดเอาโชคร้าย ออกไป ประตูหน้าต่างมีการขัดสีฉวีวรรณทาสีใหม่ซึ่งสีแดงเป็นสีนิยม ประตูหน้าต่างจะถูกประดับประดาด้วยกระดาษที่มีคำอวยพรอย่างเช่น อยู่ดีมีสุข ร่ำรวย และอายุยืน
นอกจากตำนานวันตรุษจีนนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของ วันตรุษสิ่งหนึ่งที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของ วันตรุษจีน คือ “อั่งเปา” ซึ่งมีความหมายว่า “กระเป๋าแดง” หรือจะใช้คำว่า “แต๊ะเอีย” ซึ่งมีความหมายว่า “ผูกเอว” จากที่คนสมัยก่อนชอบร้อยเงินเป็นพวงผูกไว้ที่เอว โดยการให้อั่งเปานี้ คู่แต่งงานจะให้เงินเด็กๆ และผู้ใหญ่ที่ยังไม่ได้แต่งงานในซองสีแดง หลังจากนั้นทุกคน ในครอบครัว จะออกมาจากบ้านเพื่อกล่าวสวัสดีปีใหม่ในหมู่ญาติ และกับเพื่อนบ้านของเขา