การกำหนดหมายสิ่งปฏิกูลน่าเกลียด หรือกำหนดหมายรู้โครงกระดูกแล้วก็กำหนดหมายรู้ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นสมถกรรมฐาน ส่วนความรู้ที่ว่าสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขามีที่ไหน เป็นวิปัสสนากรรมฐาน เพราะฉะนั้นท่านนักปฏิบัติทั้งหลาย สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน เป็นคุณธรรมอาศัยซึ่งกันและกัน เมื่อไม่มีสมาธิ ไม่มีฌาน ไม่มีฌาน ไม่มีวิปัสสนา เมื่อไม่มีวิปัสสนา ก็ไม่มีวิชชา ความรู้แจ้งเห็นจริง เมื่อไม่รู้แจ้งเห็นจริง จิตไม่ปล่อยวาง ก็ไม่เกิดวิมุตติความหลุดพ้น สายสัมพันธ์มันก็ไปกันอย่างนั้น อันนี้เป็นแนวทางการปฏิบัติกรรมฐานในสายของหลวงปู่เสาร์
เพราะฉะนั้นเราอาจจะเคยได้ฟังว่า ภาวนาพุทโธ แล้วจิตได้แต่สมถกรรมฐานไม่ถึงวิปัสสนา อนุสติ ๑๐ พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ สีลานุสติ จาคานุสติ อุปสมานุสติ ภาวนาแล้วจิตสงบ หรือบริกรรมภาวนา เมื่อจิตสงบแล้วถึงแค่สมถกรรมฐาน เพราะว่าภาวนาไปแล้วมันทิ้งคำภาวนา
ฉะนั้น คำว่า พุทโธๆ ๆ นี้มันไม่ได้ติดตามไปกับสมาธิ พอจิตสงบเป็นสมาธิแล้วมันทิ้งทันที ทิ้งแล้วมันก็ได้แต่สงบนิ่ง แต่อนุสติ ๒ คือ กายคตานุสติ อานาปานสติ ถ้าตามหลักวิชาการท่านว่า ได้ทั้งสมถะทั้งวิปัสสนา ทีนี้ถ้าเราภาวนาพุทโธ เมื่อจิตสงบนิ่ง สว่าง รู้ ตื่น เบิกบาน
ถ้ามันเพ่งออกไปข้างนอก ไปเห็นภาพนิมิต
ถ้าหากว่านิมิตนิ่งไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็เป็นสมถกรรมฐาน
ถ้าหากนิมิตเปลี่ยนแปลงก็เป็นวิปัสสนากรรมฐาน
ทีนี้ถ้าหากจิตทิ้งพุทโธ แล้วจิตอยู่นิ่งสว่าง จิตวิ่งเข้ามาข้างใน มารู้เห็นภายในกาย รู้อาการ ๓๒ รู้ความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ซึ่งร่างกายปกติแล้วมันตาย เน่าเปื่อย ผุพัง สลายตัวไป มันเข้าไปกำหนดรู้ความเปลี่ยนแปลงของสภาวะ คือ กายกับจิต มันก็เป็นวิปัสสนากรรมฐาน มันก็คลุกเคล้าอยู่ในอันเดียวกันนั้นแหละ
แล้วอีกประการหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราจะเคยได้ยินได้ฟังว่า สมาธิขั้นสมถะมันไม่เกิดภูมิความรู้ อันนี้ก็เข้าใจผิด ความรู้แจ้งเห็นจริง เราจะรู้ชัดเจนในสมาธิขั้นสมถะ เพราะสมาธิขั้นสมถะนี่มันเป็นสมาธิที่อยู่ในฌาน สมาธิที่อยู่ในฌานมันเกิดอภิญญา ความรู้ยิ่งเห็นจริง แต่ความรู้เห็นทุกสิ่งทุกอย่างในขณะที่จิตอยู่ในสมาธิขั้นสมถะ มันจะรู้เห็นแบบชนิดไม่มีภาษาที่จะพูดว่าอะไรเป็นอะไร สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเห็น เช่น มองเห็นการตาย ตายแล้วมันก็ไม่ว่า เน่าแล้วมันก็ไม่ว่า ผุพังสลายตัวไปแล้วมันก็ไม่ว่า ในขณะที่มันรู้อยู่นั่น แต่เมื่อมันถอนออกมาแล้วยังเหลือแต่ความทรงจำ จิตจึงจะมาอธิบายให้ตัวเองฟังเพื่อความเข้าใจทีหลัง เรียกว่าเจริญวิปัสสนา