กระเทียม เป็นพืชสมุนไพรไทยและเป็นเครื่องเทศชนิดหนึ่ง โดยมักใส่ในอาหารหลายชนิด ทั้งอาหารไทย อาหารอินเดีย กระเทียมมีชื่อสามัญท้องถิ่นอื่นอีกคือ กระเทียมขาว (อุดรธานี) กระเทียมจีน (กทม.,กลาง) ปะเซ้วา (กะเหรี่ยง,แม่ฮ่องสอน) หอมขาว (อุดรธานี) หอมเทียม (เหนือ) หัวเทียม (ใต้)
กระเทียมเป็นไม้ล้มลุกและใหญ่ยาว สูง 30 – 60 ซม. มีกลิ่นแรง มีหัวใต้ดิน ลักษณะกลมแป้น มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 – 4 ซม. มีแผ่นเยื่อสีขาวหรือสีม่วงอมชมพูหุ้มอยู่ 3 – 4 ชั้น ซึ่งลอกออกได้ แต่ละหัวมี 6 – 10 กลีบ กลีบเกิดจากตาซอกใบของใบอ่อน ลำต้นลดรูปลงไปมาก ใบเดี่ยว (Simple leaf) ขึ้นมาจากดิน เรียงซ้อนสลับ แบนเป็นแถบแคบ กว้าง 0.5 – 2.5 ซม. ยาว 30 – 60 ซม. ปลายแหลมแบบ Acute ขอบเรียบและพับทบเป็นสันตลอดความยาวของใบ โคนแผ่เป็นแผ่นและเชื่อมติดกันเป็นวงหุ้มรอบใบที่อ่อนกว่าและก้านช่อดอกทำให้เกิดเป็นลำต้นเทียม ปลายใบสีเขียวและสีจะค่อย ๆ จางลงจนกระทั่งถึงโคนใบ ส่วนที่หุ้มหัวอยู่มีสีขาวหรือขาวอมเขียว ช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม (Umbel) ประกอบด้วยตะเกียงรูปไข่เล็ก ๆ จำนวนมากอยู่ปะปนกับดอกขนาดเล็กซึ่งมีจำนวนน้อย มีใบประดับใหญ่ 1 ใบ ยาว 7.5 – 10 ซม. ลักษณะบาง ใส แห้ง เป็นจะงอยแหลมหุ้มช่อดอกขณะที่ยังตูมอยู่ แต่เมื่อช่อดอกบานใบประดับจะเปิดอ้าออกและห้อยลงรองรับช่อดอกไว้ ก้านช่อดอกเป็นก้านโดด เรียบ รูปทรงกระบอกตัน ยาว 40 – 60 ซม. ดอกสมบูรณ์เพศ กลีบรวม 6 กลีบ แยกจากกันหรือติดกันที่โคน รูปใบหอกปลายแหลม ยาวประมาณ 4 มม. สีขาวหรือขาวอมชมพู เกสรเพศผู้ 6 อัน ติดที่โคนกลีบรวม อับเรณูและก้านเกสรเพศเมียยื่นขึ้นมาสูงกว่าส่วนอื่น ๆ ของดอก รังไข่ 3 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 1 – 2 เม็ด ผลเล็กเป็นกระเปาะสั้น ๆ รูปไข่หรือค่อนข้างกลม มี 3 พู เมล็ดมีขนาดเล็ก สีดำ
ในประเทศไทยปลูกมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ แต่กระเทียมที่มีชื่อเสียงว่าเป็นกระเทียมคุณภาพดี กลิ่นฉุน ได้แก่กระเทียมจากจังหวัดศรีสะเกษ
ประโยชน์ของกระเทียม
อยู่ในสารอัลลิซิน (Allicin) ซึ่งเป็นสารที่ให้กลิ่นฉุนอันเป็นเอกลักษณ์ที่เราคุ้นเคยกันดี ซึ่งสารตัวนี้จะออกฤทธิ์ให้สรรพคุณทางยาที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เมื่อเราหั่น ฝาน หรือทุบกระเทียม เพื่อนำไปทำอาหาร ก็ไม่ได้ทำให้สารอัลลิซินสลายไป คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แนะนำให้กินกระเทียมวันละ 7-12 กลีบ หรือไม่เกินวันละ 1 หัวขนาดเล็ก ไม่ว่าจะเป็นการกินกระเทียมสด หรือกินผ่านการปรุงอาหาร ก็ได้รับประโยชน์และส่งผลดีต่อสุขภาพเช่นเดียวกัน
10 ประโยชน์ของกระเทียม
ในกระเทียมมีสารอัลลิซิน (Allicin) ซึ่งเป็นสารที่ให้กลิ่นฉุนอันเป็นเอกลักษณ์ที่เราคุ้นเคยกันดี ซึ่งสารตัวนี้จะออกฤทธิ์ให้สรรพคุณทางยาที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ดังนี้
- รักษาโรคหวัด
ในกระเทียมมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย แต่หากเป็นหวัดก็สามารถฝานกระเทียมไปแช่น้ำร้อน แล้วกรองน้ำออกมาดื่ม ชากระเทียมอุ่นๆ จะทำให้หวัดหายเร็วขึ้น - ลดระดับไขมันในเลือด
การกินกระเทียมเป็นประจำจะช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล และระดับไขมันในเลือด ซึ่งมีผลช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ - ลดความเสี่ยงเกิดโรคมะเร็ง
สถาบันมะเร็งแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NCI) เผยผลวิจัยที่ระบุว่า กระเทียมอาจมีคุณสมบัติต้านโรคมะเร็ง เนื่องจากสารในกระเทียมออกฤทธิ์ลดความเสี่ยงต่อการเกิดเนื้องอก - แก้โรคผิวหนังอักเสบ
หากผิวหนังอักเสบจากอาการแพ้จนเป็นผื่นแดง หรือมีอาการคันจากโรคสะเก็ดเงิน ให้ทาน้ำมันกระเทียมบริเวณผิวหนัง จะช่วยลดอาการอักเสบ และรักษาอาการคันให้หายได้ - แก้ปัญหาผมร่วง
สารอัลลิซินและสารซัลเฟอร์ที่อยู่ในกระเทียม สามารถช่วยลดปัญหาผมขาดหลุดร่วงได้ เพียงฝานกระเทียมบางๆ ผสมน้ำมันออยล์ แล้วนำไปนวดบำรุงศีรษะ หนังศีรษะก็จะแข็งแรงขึ้น - บรรเทาอาการปวดข้อ
ประโยชน์ของกระเทียมคือ ทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น จึงสามารถช่วยลดอาการปวดตามข้อของร่างกาย บรรเทาอาการเจ็บจากข้อเท้าพลิก รวมถึงอาการเคล็ดขัดยอกต่างๆ - ป้องกันแมลงกัดต่อย
คนไทยโบราณนิยมใช้กระเทียมเป็นยากันยุง รวมถึงการหั่นกระเทียมแล้วนำไปผสมกับขี้ผึ้ง ทาตามแขนขาเมื่อต้องเดินทางในป่า กลิ่นของกระเทียมจะทำให้ไม่มีแมลงมารบกวน - ถอนเสี้ยนหนาม
วิธีธรรมชาติที่คนไทยโบราณนิยมใช้กำจัดเสี้ยนหนาม และเสี้ยนไม้ที่ตำมือหรือตำเท้า ให้ฝานกระเทียมแผ่นบางๆ วางลงบนเสี้ยน แล้วใช้ผ้าพันแผลกดทับลงไป ไม่นานเสี้ยนก็จะหลุดออกเอง - รักษาสิว
นอกจากมีฤทธิ์ป้องกันเชื้อราแล้ว กระเทียมยังสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้อีกด้วย เคล็ดลับภูมิปัญญาไทยจึงใช้กระเทียมในการรักษาสิว ด้วยการฝานกระเทียมสด แปะลงบริเวณที่มีสิว - กำจัดกลิ่นเท้า
ใครที่มีกลิ่นเท้าไม่พึงประสงค์ ให้นำกระเทียมไปบด แล้วแช่ในน้ำอุ่น หลังจากนั้นให้แช่เท้าเพื่อกำจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์ เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาเชื้อราที่เท้า น้ำกัดเท้า หรือเท้าอับชื้น
กระเทียมมีประโยชน์และสรรพคุณทางยาก็จริง แต่ทุกอย่างก็ต้องตั้งอยู่บนความสมดุล หากกินกระเทียมมากเกินไปอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ก็อาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้เช่นกัน เพราะจะส่งผลให้เกิดภาวะเลือดแข็งตัวช้า เนื่องจากสารในกระเทียมจะยับยั้งการเกาะตัวของเกล็ดเลือด ซึ่งหากเกิดบาดแผลจะทำให้เลือดไหลไม่หยุด