พระนารายณ์ เทพผู้ดูแลรักษา

1432

พระวิษณุ (Vishnu) หรือ พระนารายณ์ เป็นหนึ่งในสามของมหาเทพ ที่คอยคุ้มครอง ป้องกัน และรักษาโลกทั้ง 3 ไว้ ตามความเชื่อจากคัมภีร์พราหมณ์ ของชาวฮินดู พระวิษณุจะมีลักษณะของพระวรกายเปลี่ยนไปตามยุค แต่ละยุคจะมีสีต่างกันพระวิษณุทรงฉลองพระองค์เหมือนอย่างพระมหากษัตริย์ สวมมงกุฎทอง และเสื้อผ้าสีเหลือง พระวิษณุมี 4 กร แต่ละกรก็จะถือสิ่งของที่ต่างกันไป อาวุธของพระวิษณุที่เห็นได้บ่อยที่สุด ก็คือ สังข์ จักร ตรี คทา ส่วนอีกกรอาจจะถือดอกบัวบ้าง หรืออยู่ในลักษณะประทานพร ซึ่งจะไม่ถืออะไรเลย ส่วนพาหนะของพระวิษณุคือ พญาครุฑ

ที่ประทับของพระวิษณุจะอยู่ที่เกษียรสมุทร โดยพระวิษณุชอบที่จะบรรทมอยู่บนหลังอนันตนาคราช ข้างกายของพระวิษณุ จะมีพระชายา ที่ชื่อว่า พระลักษมีมหาเทวี เฝ้าปรนิบัติอยู่ไม่ห่าง

พระวิษณุ ยังมีอีกชื่อหนึ่งว่า “หริ” หรือมีความหมายว่า ผู้ดูแลแห่งจักรวาล ด้วยเหตุนี้จึงยกว่าพระวิษณุถือเป็นเทพสูงสุด เนื่องจากทุกอย่างเกิดขึ้นจาก “หริ”

“หริ” สามารถแบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ

พระพรหม ผู้มีหน้าที่บันดาลสรรพสิ่งทุกอย่างในทั้งสามโลก
พระวิษณุ หรือ พระหริ ผู้มีหน้าที่ดูแลความเรียบร้อย ความสงบ และความสมดุล ของโลกทั้งสาม
พระศิวะ ผู้มีหน้าที่ทำลายสิ่งร้ายทุกประการในทั้งสามโลก

ในคัมภีร์ไวษณพนิกาย (ซึ่งเป็นคัมภีร์สำหรับผู้ที่นับถือพระวิษณุ) ได้กล่าวถึงการกำเนิดของพระวิษณุ ไว้ว่า เมื่อพระวิษณุประสงค์จะสร้างโลกทั้งสาม ท่านได้เห็นว่าแม้ตัวเองจะเป็นผู้เป็นใหญ่ที่สุดในจักรวาลมี แต่การสร้างโลกทั้งสามนี้ถือเป็นงานหนักมากเกินกว่าที่คนเดียวจะทำได้ เมื่อคิดดังนั้น พระองค์จึงแบ่งร่างกายของพระองค์ออกเป็นส่วนๆ จนได้เป็นมหาเทพทั้ง 3 พระองค์ แขนซ้ายเกิดขึ้นมาเป็นพระพรหม แขนขวาเกิดขึ้นมาเป็นพระศิวะ และหน้าอกส่วนลำตัวเกิดขึ้นมาเป็นพระวิษณุ (ตามรูปตรีมูรติ จะแสดงให้เห็นว่า พระวิษณุจะมีพระพักตร์อยู่ตรงกลางเสมอ)

ส่วนในคัมภีร์ของไศวนิกาย (ซึ่งเป็นคัมภีร์สำหรับผู้ที่นับถือพระศิวะ) กลับกล่าวแตกต่างกันออกไป โดยกล่าวไว้ว่า พระปรเมศวร หรือ พระศิวะ เป็นผู้สร้างพระวิษณุ ที่เป็นเช่นนี้เพราะ พระองค์ต้องการทำงานใหญ่ โดยจะสร้างสวรรค์และโลก จึงต้องการผู้ช่วย ว่าแล้วก็นำพระหัตถ์ข้างซ้ายมาลูบพระหัตถ์ข้างขวา ทำให้ปรากฎเป็นเทพนามว่า “พระวิษณุ” หรือ “พระนารายณ์” ขึ้นมา จากนั้นพระปรเมศวรก็ได้สอนความรู้ด้านศิลปะในทุกด้านให้แก่พระวิษณุ และมอบเกษียรสมุทรให้เป็นที่ประทับ หากเกิดเหตุร้ายไม่ว่าจะเป็นในโลกมนุษย์ หรือสวรรค์ พระวิษณุจะต้องไปทำหน้าที่กำจัดเหล่าอสูร และผู้ที่ประสงค์ร้ายคนนั้น ๆ หรือในบางครั้งบางคราว อาจจะมีเหล่าเทพเทวดามาร้องขอบ้าง

ในขณะที่คัมภีร์มหาภารตะ กล่าวไว้ว่า เดิมที่พระนารายณ์เป็นเพียงฤๅษีตนหนึ่ง ผู้เป็นบุตรของฤๅษีธรรมมะ และได้เดินทางพร้อมเพื่อนสนิทที่ชื่อว่า “นร” จากโลกมนุษย์ไปยังสถานที่ของพวกพราหมณ์ โดยมีจุดประสงค์เพื่อบำเพ็ญเพียร จนในที่สุดก็ได้รับการเคารพบูชาจากเทวดาทั้งหลาย และในเวลาต่อมา ก็มีเหล่าเทวดามาขอร้องให้ช่วยกำจัดอสูรให้ ฤๅษีทั้งสองเห็นว่าเทวดาได้รับความเดือดร้อน จึงรับปากช่วยเหลือ ซึ่งฤาษีก็สามารถสู้รบชนะอสูรได้จนสำเร็จ จึงได้รับความเคารพจากเหล่าเทวดามากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ภายหลัง ฤๅษีนารายณ์ได้เดินทางไปยังหิมาลัยเพื่อออกบำเพ็ญเพียร และได้ไปบรรลุผลเป็นพราหมณ์ หรือผู้รู้แจ้งทุกสิ่งในโลกในที่สุด ฤๅษีนารายณ์จึงได้เป็นผู้นำแหล่งเหล่าพราหมณ์ และได้รับการรู้จักและยกย่องบูชาในนาม “พระวิษณุหรือ พระนารายณ์ ในเวลาต่อมา

ความแตกต่างของความเชื่อ ทำให้คำเรียกของพระวิษณุ พระนารายณ์ ถูกเรียกขานกันต่างออกไปหลายรูปแบบ ซึ่งจะไม่เหมือนกันแล้วแต่ฤทธิ์อำนาจ หรือเหตุการณ์ที่ต่างกันตามเวลา ยกตัวอย่างเช่น

อนันตะ แปลว่า ไม่สิ้นสุด, จตุรภุช แปลว่า มี 4 กร, มุราริ แปลว่า เป็นศัตรูแห่งมุระ, นระ (นะระ) แปลว่า ผู้ชาย, นารายณ์ แปลว่า ผู้ที่เคลื่อนไปในน้ำ, ปัญจายุทธ แปลว่า พระผู้ทรงอาวุธทั้ง 5 อย่าง, ปีตามพร แปลว่า ทรงเครื่องสีเหลือง, ทโมทร แปลว่า มีเชือกพันเอาไว้รอบเอว, กฤษณะ, โควินทะ, โคบาล แปลว่า ผู้เลี้ยงวัว, ชลศายิน แปลว่า ผู้นอนเหนือน้ำ, พระพิษณุหริ แปลว่า ผู้สงวน, อนันตไศยน แปลว่า นอนบนอนัตนาคราช, ลักษมีบดี แปลว่า ผู้เป็นสามีของพระลักษมี, วิษว์บวร แปลว่า ผู้คุ้มครองโลก, สวยภู แปลว่า เกิดเอง, เกศวะ แปลว่า ผู้มีผมอันงาม, กิรีติน แปลว่า ผู้ใส่มงกุฎ

พระวิษณุ หรือ พระนารายณ์ ทรงประทับที่ไวกูณฐ์ หรือ บนสวรรค์ มีพระวรกายสีนิล แต่งกายดั่งกษัตริย์ มีมงกุฎเหนือศีรษะ อาภรณ์มีสีเหลือง มีพาหนะเป็นครุฑ มีกร 4 กร ซึ่งถือสังข์ จักร ตรี คทา สลับกันเป็นอาวุธ หรือบ้างก็ทรงถือ ดอกบัว ลูกศร ดอกไม้ เชือกบ่วงบาศ หรือสายฟ้า

ความสำคัญด้านศาสนา-ลัทธิ

เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 3-6 ในขณะที่ ลัทธิไวษณพนิกาย ที่นับถือว่าพระวิษณุเป็นใหญ่ที่สุดเหนือมหาเทพทั้งหลาย กลายเป็นลัทธิที่มีความรุ่งเรืองมากขึ้นในสมัยราชวงศ์คุปตะ ทำให้กษัตริย์อินเดียส่วนใหญ่นับถือลัทธินี้ และอุปภัมภ์ลัทธินี้ไว้ ทั้งนี้ได้ถือเอาว่า หัวใจที่สำคัญของลัทธิภควตา (Bhagavata) คือ การอวตารขององค์พระวิษณุ

พอถึงในสมัยราชวงศ์คุปตะ ลัทธิก็ยังคงเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาเป็นลำดับ และถึงแม้ว่าราชวงศ์คุปตะจะเสื่อมลง ลัทธิความเชื่อนี้ก็ยังคงปรากฎอยู่ ชาวฮินดูจึงยังเคารพบูชาปางอวตารของพระวิษณุ สืบต่อกันมาจวบจนถึงในปัจจุบัน

การอวตาร (Avatar) หรือ รากศัพทฺในภาษาอังกฤษเขียนว่า “Incarnation” ที่มีความหมายว่า “การลงมา” หมายถึง “การลงมาเกิดเป็นมนุษย์” หรือ “การเข้าในร่างของมนุษย์” การที่พระวิษณุเสด็จลงมามีชีวิตบนโลกมนุษย์ กันเพื่อปราบยุคเข็ญตามภาคตอนต่าง ๆ ถือเป็นภารกิจอันสำคัญอย่างยิ่งของพระองค์ และเมื่อมียุคเข็ญเกิดขึ้นบนโลกมนุษย์ พระวิษณุก็จะลงมาอวตาร เพื่อขจัดความทุกข์ยากให้หมดสิ้นไป

การอวตารของพระวิษณุ

พระวิษณุอวตารลงมาเป็นทั้งมนุษย์และสัตว์ ซึ่งเหตุผลของการอวตารของพระองค์จะเป็นไปตามหลายเหตุผล เช่น เป็นคำสั่งของพระศิวะ หรือการร้องขอของเหล่าเทวดา ด้วยเหตุนี้จึงเป็นการยากที่จะนับจำนวนครั้งของการอวตารของพระวิษณุ

จุดประสงค์การอวตารเพื่อลงมาช่วยเทวดา และมนุษย์โลก มีทั้งหมด 25 ปาง โดยปางที่สำคัญมากที่สุดแบ่งได้ 10 ปาง ดังต่อไปนี้

ปางที่ 1 มัตสยาวตาร (อวตารเป็นปลา) เพื่อช่วยไม่ให้เกิดน้ำท่วมโลก อันจะทำให้มวลมนุษย์และสัตว์เดือดร้อน

ปางที่ 2 กูรมาวตาร (อวตารเป็นเต่า) เพื่อช่วยหมู่เทวดา และ อสูรกวนเกษียรสมุทร

ปางที่ 3 วราหาวตาร (อวตารเป็นหมูป่า) แบ่งเป็น 2 ตำนาน คือ 1) เพื่อปราบอสูรที่ชื่อว่า “หิรัณยากษะ” ที่ขโมยเอาแผ่นดินไปม้วนเหน็บไว้ที่แนบกาย และ 2) เพื่อสงบศึกการต่อสู้ระหว่างพลังอำนาจของพระศิวะ และ พระพรหม

ปางที่ 4 นรสิงหาวตาร (อวตารเป็นครึ่งสิงห์) เพื่อกำจัดอสูรที่ชื่อว่า “หิรัณยกศิปุ” น้องชายของ “หิรัณยากษะ”

ปางที่ 5 วามนาวตาร (อวตารเป็นพราหมณ์เตี้ย)เพื่อปราบอสูรที่ชื่อว่า “พาลี” ที่เป็นเหลนของ “หิรัณยกศิปุ”

ปางที่ 6 ปรศุรามาวตาร (อวตารเป็นพราหม์ผู้ใช้ขวานเป็นอาวุธ) เพื่อกำจัดมนุษย์ผู้กษัตริย์ที่มีใบหน้าหนึ่งพันหน้า ที่ชื่อว่า “พระเจ้าอรชุน” หรือ “พระเจ้าสหัสอรชุน” ผู้ก่อให้เกิดยุคเข็ญและทำลายล้มศาสนา

ปางที่ 7 รามาวตาร หรือ รามจันทราวตาร(อวตารลงมาเป็นพระราม) เพื่อกำจัดอสูรที่ชื่อว่า “ราวณะ” หรือ “ราพณ์” หรือที่คนไทยเรียกกันว่า “ทศกัณฐ์” ผู้เป็นกษัตริย์แห่งกรุงลงกา ปางอวตารนี้ถือเป็นหลักของจารีต ประเพณี และขนบธรรมเนียมของสังคมในประเทศอินเดีย

ปางที่ 8 กฤษณาวตาร (อวตารลงมาเป็นพระกฤษณะ) เพื่อขับรถม้า และสอนวิธีการดำเนินชีวิต ให้แก่ “พระอรชุน”

ปางที่ 9 พุทธาวตาร (อวตารลงมาเป็นพระพุทธเจ้า) จากความเชื่อของชาวฮินดู เล่าว่า พระนารายณ์ที่อวตารลงมาในปางนี้ มีจุดประสงค์เพื่อหลอกลวงให้พวกที่ไม่นับถือวรรณะแยกออกไปจากศาสนาพราหมณ์ หรือในบางแห่งก็เชื่อกันว่า ปางที่เก้านี้เป็นการอวตารลงมาคู่กับพระกฤษณะ ที่เรียกว่า พลรามาวตาร (อวตารลงมาเป็นพลรามหรือพระพลราม) ผู้เป็นพี่ชายของพระกฤษณะ

ปางที่ 10 กัลกยาวตาร หรือ กัลกิยาวตาร(อวตารเป็นกัลกี หรือมนุษย์ผู้ขี่ม้าขาว ) เป็นการอวตารที่ทำนายอนาคตเอาไว้ จึงยังไม่เกิดขึ้นจริง แต่ทำนายไว้ว่า เมื่อถึงเวลาที่เป็นปลายแห่งกลียุค หรือเป็นเวลาที่ผู้คนไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี หรือไม่รู้จักธรรมะอีกต่อไป จะมีผลให้โลกทั้งโลกต้องเผชิญกับยุคเข็ญไปทั่ว ซึ่งในเวลานั้นจะมีบุรุษขี่ม้า มาปรากฏกาย เพื่อช่วยขจัดปัดเป่าความเดือดร้อน และนำธรรมะกลับมาสู่โลกใบนี้อีกครั้งหนึ่ง

พระนารายณ์ 10 ปาง ในพระพุทธศาสนา

คาดเดาว่า ชาวพุทธไม่ยินดีที่ชาวฮินดูจะนำเอาพระศาสดาของพุทธไปเป็นอวตารเป็นปางหนึ่งของมหาเทพของศาสนาพุทธ จึงมีการเปลี่ยนปางที่ไม่สำคัญเข้ามาแทนที่ อันได้แก่

ปางที่ 1 วราหาวตาร (อวตารเป็นหมูเผือกเขี้ยวเพชร)

ปางที่ 2 กูรมาวตาร (อวตารเป็นเต่าทอง)

ปางที่ 3 มัตสยาวตาร (อวตารเป็นปลากรายทอง)

ปางที่ 4 นรสิงหาวตาร (อวตารเป็นครึ่งสิงห์)

ปางที่ 5 วามนาวตาร หรือ ทวิชาวตาร (อวตารเป็นพราหมณ์เตี้ย)

ปางที่ 6 มหิงสาวตาร (อวตารเป็นควาย)

ปางที่ 7 อัปสราวตาร (อวตารเป็นนางฟ้า)

ปางที่ 8 รามาวตาร (อวตารเป็นมนุษย์ที่ชื่อว่าพระราม)

ปางที่ 9 กฤษณาวตาร (อวตารเป็นพระกฤษณะ)

ปางที่ 10 กัลกยาวตาร (อวตาร วีรบุรุษขี่ม้าขาวในร่างมนุษย์)

ความเชื่อและคตินิยม

พระวิษณุ หรือ พระนารายณ์ มี 4 กร แต่ละกรก็จะถือสิ่งของที่ต่างกันไป อาวุธของพระวิษณุที่เห็นได้บ่อยที่สุด ก็คือ สังข์ จักร ตรี คทา พระวิษณุถือเป็นเทพผู้สร้าง ถ่ายทอดความรู้ด้านงานช่างต่างๆ โดยอิทธิฤทธิ์ที่มีได้รับมาจากพระอิศวร มากมาย อีกทั้งยังมีความเชื่ออีกว่า หากใครนิยมบูชา พระวิษณุจะคุ้มครองให้มีโชคลาภ แต่บุคคลผู้นั้นจะต้องดำเนินตนอยู่ในศีล มีสัจจะ รวมทั้งเจริญภาวนาเป็นที่ตั้ง ผู้ที่นับถือพระวิษณุ ควรท่องคำบูชาพระวิษณุ หรือ นารายณ์ ดังนี้

“โอม…นะโม นารายณะ นามะ ภะวันตุเม ทุติยัมปิ…นะโม นารายณะ นามะ ภะวันตุเม ตะติยัมปิ…นะโม นารายณะ นามะ ภะวันตุเม ฯ”

หากต้องการอธิษฐานขอพรพระนารายณ์ ให้กล่าวตามดังนี้

“ โอม…ศานตาการัม ภุชะคะศะยะนัม ปัทมะนาภัมสุ ุเรศัม วิศวาธารัม คะคะนะสะทฤศัม เมฆะวรรณัม ศุภางคัม ลักษมีกานตัม กะมะละนะยะนัม โยคิภีร์ ธยานะคัมมยัม วันเทวิษณุมอภะวะภะยะหะรัม สรรวะโลกัยกานาถัม ฯ”

หากต้องการอธิษฐานขอพรพระวิษณุ ให้กล่าวตามดังนี้

“โอม…สะศางขะจักรัม สะกิริฏะ กุณตะลัม สปิตะวัสตรัม สะระสีรูเหกษณัม สะหาระวักษะสถะละ เกาสตุภะ ศริยัม นะมามิ วิษณุม ศิระสา จตุรภุซัม ฯ”

หากต้องการอธิษฐานขอพรพระราม ให้กล่าวตามดังนี้

“ โอม…นีลามพุชะ ศยามะละ โกมะลางคัมสีตา สมา โรปิตะ วามะภาคัม ปาเณา มหาสายะกะ จารุ จาปัม นะมามิ รามัม ระฆุวัมศะ นาถัม ฯ”